top of page

หนังสือ อาโรคยวัตร

โดย โครงการการสร้างเสริมเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา

Capture1.PNG

          ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั่วทุกมุมโลก อันแสดงให้เห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้นคือมหันตภัยที่ร้ายกาจที่สุด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “อาโรคฺยปรมา ลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ สิ่งที่กล่าวมานี้คือความจริงที่ยืนยันได้จากตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกที่มีมากกว่าสี่แสนคน นี่ยังไม่ได้หมายรวมถึงปัญหาในเรื่องอื่น ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจที่ผู้คนไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ ทางด้านจิตใจที่ผู้คนต้องประสบกับภาวะความเครียด การขาดที่พึ่งพาทางด้านจิตใจ เป็นต้น

Screen Shot 2563-05-18 at 16_0.13.30.png
S__17571876.jpg

          ผลกระทบที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หากยังมีผลกระทบอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ที่ทำให้หลายคนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต หลายองค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกันกับโครงการการสร้างเสริมเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา ที่ดำเนินโครงการโดยสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี พระศรีสมโพธิ ดร. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

89737684_10158149480375406_4608109569095

          ทางโครงการฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเช่นเดียวกัน โดยจากเดิมที่โครงการมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายในการลดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงการฯ ได้จัดทำสื่อองค์ความรู้ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวคือ วีดิทัศน์ชุด รู้โรค รู้ธรรม จำนวนทั้งสิ้น 2 ตอน

วีดีทัศน์ ชุด รู้โรค รู้ธรรม ตอนที่ 1

วีดีทัศน์ ชุด รู้โรค รู้ธรรม ตอนที่ 2

          หนังสือ “อาโรคยวัตร” คือสื่อองค์ความรู้ชุดล่าสุด ที่ทางโครงการฯ จัดทำขึ้น โดยได้รับเมตตาจาก พระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เป็นผู้ให้คำนิยมที่เป็นสิริมงคลและช่วยเตือนสติให้กับพุทธศาสนิกชนได้เป็นอย่างดี เนื้อหาภายในหนังสือเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของหลักศีล 5 (เบญจศีล) และธรรม 5 (เบญจธรรม) ที่ได้รับเมตตาจาก พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม เป็นผู้อนุญาตให้นำเนื้อหาจากหนังสือที่ท่านเคยจัดทำไว้มาเรียบเรียงและปรับปรุงใหม่

03.jpg

พระพรหมเสนาบดี

กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 7

S__45391884.jpg
04.jpg

พระศรีสมโพธิ ดร.

ผู้รับผิดชอบโครงการการเสริมสร้างเครือข่าย

ลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา

พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ. ดร.

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

          ตลอดจนถึงเนื้อหาเกี่ยวกับ การรู้ทันโรค รู้ทันโลก และรู้ทันจิตใจ ที่ได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลจาก ดร.ธานี สุวรรณประทีป มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วุฒินันท์ กันทะเตียน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยอาจารย์ทั้งสองท่านได้เรียบเรียงเป็นบทความไว้ได้อย่างน่าสนใจ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดความเท่าทันต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว

01.jpg
02.jpg

ดร.ธานี สุวรรณประทีป

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ผศ.ดร.วุฒินันท์ กันทะเตียน

มหาวิทยาลัยมหิดล

          นอกจากเนื้อหาในทางวิชาการเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  ในช่วงท้ายของเล่มยังได้มีการนำสื่อองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักปฏิบัติตนเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลีกเลี่ยงต่อความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ที่ทางโครงการฯ ได้รวบรวมองค์ความรู้มาจากหน่วยงานที่ทำงานทางด้านสาธารณสุข อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นอย่างมาก

Capture.PNG
Capture1.PNG

          จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานของทางโครงการการเสริมสร้างเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา ที่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่คาดไม่ถึง และเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า พุทธศาสนา คือศาสนาที่มีชีวิต เป็นศาสนาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ และยังคงมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางด้านจิตใจ ที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกำลังประสบอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันนั่นเอง

เนื้อหาโดย

_DSC0021.jpg

พงษ์พัฒน์ ใหม่จันทร์ดี

bottom of page