จาก “หลักธรรม” สู่ “รูปธรรม”
การสร้างเสริมเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา จังหวัดสมุทรสงคราม
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะนิยมเข้าวัดทำบุญ รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ถวายเทียนพรรษาเพื่อเป็นพุทธบูชาและสร้างกุศลให้กับตนเอง การสั่งสมบุญกุศลในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถกระทำได้หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้น คือ การตั้งความมุ่งมั่นในการลด ละ เลิก จากอบายมุขทั้งปวงซึ่งหน่วยงานหลายภาคส่วนได้จัดกิจกรรมรณรงค์โดยใช้ช่วงเวลาตลอดพรรษาเป็นหมุดหมายแห่งการลด ละ เลิก จากปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเหตุขวางกั้นแนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ผ่องใสของจิตใจ คือ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของพุทธศาสนา
ชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งเป็นจังหวัดที่พื้นที่น้อยที่สุดในประเทศได้จัดกิจกรรมลด ละ เลิกบุหรี่-เหล้าช่วงเข้าพรรษา ภายใต้โครงการเครือข่ายพลังบวรพิทักษ์คลองกระทิง การสร้างเสริมเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา ณ วัดอินทาราม ตำบลเหมืองใหม่ อำเภอ อัมพวา โดย พระมหากฤษฎา กิตฺติโสภโณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นผู้ริเริ่ม งานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความสมานสามัคคีและความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างองค์กรทางพระพุทธศาสนาและภาคประชาชน โดยได้นิมนต์ พระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นองค์ประธานเปิดงาน พระภาวนาวิสุทธิโสภณ เจ้าอาวาสวัดประดู่ ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ เจ้าอาวาสวัดอินทาราม นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นสักขีพยานการดำเนินงานส่วนของจังหวัดสมุทรสงคราม
โครงการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเครือข่ายที่จะให้ทุกภาคส่วนทำงานประสานกันโดยใช้พลัง “บวร” ซึ่งแปลว่า “ประเสริฐ ล้ำเลิศ” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ในการขับเคลื่อน และช่วยกระตุ้นให้เห็นถึงพิษภัยของเหล้า บุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่โครงการดังกล่าวให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น เพื่อพิทักษ์ชุมชนคลองกระทิงให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง ด้วยการทำงานในรูปแบบเชิงรุก คือ การสร้างเครือข่ายระวังป้องกัน ช่วยกันสอดส่อง เป็นหูเป็นตาให้กับชุมชน และการให้ความรู้ถึงโทษภัยอันเกิดจากเหล้า บุหรี่ โดยมีหลักที่พระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต ได้แนะนำไว้ 4 ประการ คือ 1 หลีกเลี่ยง จากแหล่งอบายมุขทั้งปวง 2 หาทางป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยง หากต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง 3 รู้เท่าทัน โทษของปัจจัยเสี่ยง 4 ร่วมมือในการลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยง การทำงานเชิงรุกจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเกิดกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ หรือนักดื่มหน้าใหม่ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอบายมุขซึ่งอาจเป็นสาเหตุของปัญหาอื่นๆ ตามมา
วัดอินทารามเป็นวัดที่อยู่ในโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” และเคยได้รับรางวัลโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ดีเด่น ของคณะสงฆ์ภาค 14-15 รางวัลที่ได้รับจึงเป็นประจักษ์พยานแสดงให้เห็นว่าวัดและพระสงฆ์ได้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือชุมชน และคนในชุมชนก็มีความผาสุกโดยมี “ศีล” เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต โครงการเครือข่ายพลังบวรพิทักษ์คลองกระทิงได้ใช้วัดอินทารามแห่งนี้เป็นสถานที่ขับเคลื่อนโครงการ จึงเชื่อได้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะช่วยทำให้ชุมชนแห่งนี้ปลอดจากเหล้า-บุหรี่ในช่วงตลอดระยะเวลาเข้าพรรษา พุทธศาสนาจะเข้ามามีส่วนช่วยได้อย่างไร ขอยกปาฐกถาธรรมของพระพรหมบัณฑิตว่า ความเสี่ยง เป็นคำใหม่ที่ คล้ายกับคำว่า อนิจจัง ความเสี่ยง คือ สภาวะที่คุกคามต่อการบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ทุกอยากเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงก็คือความไม่เที่ยงอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง ต่อการบรรลุเป้าหมาย โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่จึงเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสี่ยง ก็คือ ทำให้คนดำรงตนบนความไม่ประมาท สัตว์ทั้งหลายต้องการความสุข ทั้งความสุขกายและสุขใจ เป็นเรื่องธรรมดา ดังพุทธพจน์ที่ว่า “สุขกามานิ ภูตานิ” สิ่งที่ขัดขวางความสุข ก็คือ ความเสี่ยง เช่น หากมนุษย์อยากมีสุขภาพดีก็ต้องทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ให้ครบตามหลักโภชนาการ ออกกำลังกาย แต่หากเราสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เราสุขภาพไม่ดี แม้ว่าการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ดูภายนอกอาจจะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใครมากนัก แต่ในทางพุทธศาสนา ถือว่า สิ่งนี้ คือ การเบียดเบียนตัวเอง เพราะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นเหตุแห่งความประมาททำให้ขาดสติ ดังที่ปรากฏในศีลข้อ 5 ที่ว่า “สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา” คือ “การดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท” เมื่อขาดสติ การรักษาศีลข้ออื่น ๆ ก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้น ศีลข้อที่ 5 จึงเป็นศีลขอที่สำคํญที่สุดและเป็นฐานของศีลข้ออื่น ๆ
กิจกรรมของโครงการเครือข่ายพลังบวรพิทักษ์คลองกระทิง ณ วัดอินทาราม เริ่มต้นด้วยการอธิษฐานจิต “บวชใจ” ขอบูชาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพื่อ ลด ละ เลิก การดื่มหล้าและสูบบุหรี่ และการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ ทั้งการเทเหล้า เผาบุหรี่ ก็เป็นการตั้งปณิธานที่จะไม่ไปข้องแวะกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นโทษต่อสุขภาวะ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามที่จะขับเคลื่อนจังหวัดสมุทรสงครามสู่ เมืองแห่งความสุข (City of Happiness) หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ Healthy การเสริมสร้างสุขภาพของประชาชน นอกจากที่โครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสุขภาวะที่ดีให้แก่คนในชุมชนแล้ว โครงการยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสถานที่หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งสอดคล้องกับหลัก “ปฏิรูปเทส” ในทางพุทธศาสนา ช่วงเวลาเข้าพรรษาจึงเป็นช่วงเวลาที่ให้เราจะได้หันกลับมาตระหนักถึงโทษภัยของปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ตั้งใจลด ละ เลิก เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติบนความไม่ประมาท นับเป็นมงคลสูงสุดที่จะเกิดประโยชน์กับตนเองและส่วนรวม