บทสรุปการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการปฏิบัติศาสนกิจ ในฐานะกลไกพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้เป็นศาสนาทายาท ตลอดจนมุ่งพัฒนาพระสงฆ์ให้เป็นนักส่งเสริมสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา (Health Promoter) ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2557 เริ่มจากปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจที่พระนิสิตทุกรูปจะต้องทำโครงการพัฒนาสังคม โดยโครงการจะต้องมุ่งสนองงานกิจการคณะสงฆ์ มีความยึดโยงกับชุมชน และสร้างให้เกิดสังคมสุขภาวะ นำมาซึ่งการเกิดโครงการปฏิบัติศาสนกิจต้นแบบจำนวน 54 โครงการต้นแบบ อาทิ โครงการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ, โครงการส่งเสริมสุขภาพ โพนค่าย FC ที่เน้นนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสุขภาวะทางกาย และทางจิตใจแก่ประชาชน และผู้สูงอายุ, โครงการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมครบวงจรของชีวิต ที่นำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการออมเงิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น, โครงการลานธรรมเพื่อน้อง ณ ศูนย์การเรียนรู้ ตชด บ้านหลังอ้ายหมี ที่เน้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่ทุรกันดาร เป็นต้น
ผลลัพธ์จากการพัฒนากระบวนการปฏิบัติศาสนกิจ ได้นำไปสู่การขยายผลการพัฒนากระบวนการปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยในปีพ.ศ.2561 กองกิจการนิสิต สำนักงานอธิการบดี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินโครงการพัฒนายุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนากลไกและยุทธศาสตร์การปฏิบัติศาสนกิจของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้มุ่งสนองงานกิจการพระพุทธศาสนา ดำเนินการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนการสร้างให้เกิดสังคมสุขภาวะวิถีพุทธ
สำหรับหนังสือบทสรุปการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ คือสื่อชุดองค์ความรู้ที่ทางโครงการฯ จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอถึงการพัฒนาการปฏิบัติศาสนกิจในฐานะกลไกสำคัญที่จะหนุนเสริมงานกิจการพระพุทธศาสนา และสร้างให้เกิดสังคมสุขภาวะวิธีพุทธ ในขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้พระนิสิตเป็น “ศาสนทายาท” ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการเป็นพระสงฆ์นักส่งเสริมสุขภาวะ ผู้ทำหน้าที่ในการสร้างสุขภาวะให้แก่ชุมชน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานในสี่ระยะสำคัญ ประกอบด้วย
ระยะแรก: ร่วมกันวางแผน และระดมความคิดร่วมกับผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบดูแลงานด้านกิจการนิสิต เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงการสร้างกลไก “คณะอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ” เพื่อทำหน้าที่กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และหนุนเสริมงานปฏิบัติศาสนกิจในระดับพื้นที่
ระยะที่สอง: ลงพื้นที่เพื่อชี้แจง และสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เกี่ยวกับกลไกคณะอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ และร่วมพัฒนายุทธศาสตร์การปฏิบัติศาสนกิจในระดับพื้นที่
ระยะที่สาม: ดำเนินการสนับสนุนกลไกคณะอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ ในการขับเคลื่อนงานปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่ ทั้งในรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพพระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ การลงพื้นที่ติดตามโครงการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนการจัดพื้นที่เพื่อนำเสนอผลการปฏิบัติศาสนกิจในรูปแบบของตลาดนิทรรศการความรู้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการปฏิบัติศาสนกิจกับการสร้างสังคมสุขภาวะ
ระยะที่สี่: ดำเนินการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสามารถขยายผลองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
สำหรับการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ได้นำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์การปฏิบัติศาสนกิจในระดับพื้นที่ การเกิดคณะอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ การเกิดโครงการปฏิบัติศาสนกิจต้นแบบ การสร้างเครือข่ายการปฏิบัติศาสนกิจกับการสร้างสังคมสุขภาวะ ตลอดจนการขยายผลที่นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยลัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
เกิดการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์และกลไกในรูปแบบ “คณะอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ” จำนวน 29 พื้นที่ ในการทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพพระนิสิตจำนวน 1,800 รูป เกิดการลงพื้นที่เพื่อติดตาม หนุนเสริม และให้กำลังใจแก่พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจมีประสิทธิภาพ และสร้างผลกระทบต่อสังคม นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ อีกทั้งดำเนินการประเมินผลเพื่อสรุปบทเรียน และถอดบทเรียนความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติศาสนกิจ ในรูปแบบของนิทรรศการนำเสนอองค์ความรู้ในระดับพื้นที่ และระดับภูมิภาค
เกิดโครงการปฏิบัติศาสนกิจต้นแบบและโครงการปฏิบัติศาสนกิจที่มีความเป็นเลิศ โดยคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ โครงการปฏิบัติศาสนกิจต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องนำเสนอผลการปฏิบัติศาสนกิจในรูปแบบของการนำเสนอและนิทรรศการในระดับพื้นที่ และระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการถ่ายทอดและเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการปฏิบัติศาสนกิจในฐานะกลไกที่หนุนเสริมงานกิจการพระพุทธศาสนา และสร้างให้เกิดสังคมสุขภาวะวิถีพุทธ
เกิดเครือข่ายการทำงานเชิงบูรณาการการปฏิบัติศาสนกิจกับหนุนเสริมงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และสร้างสังคมสุขภาวะวิถีพุทธ ประกอบด้วย คณะสงฆ์ในพื้นที่ พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ ผู้บริหาร/คณาจารย์/เจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติศาสนกิจ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรปกครองท้องถิ่น สาธารณสุขอำเภอและจังหวัด เครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติธรรม เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก (พระอสว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งช่าติ (สปสช.) นักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (นนส.) นอกจากนี้ ดำเนินการสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจกับการสร้างสังคมสุขภาวะวิถีพุทธร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงการขับเคลื่อนโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ที่มุ่งดำเนินการพัฒนายุทธศาสตร์และกลไกการปฏิบัติศาสนกิจในการทำงานสนองงานกิจการพระพุทธศาสนา และสร้างให้เกิดสังคมสุขภาวะวิถีพุทธ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาพระนิสิตให้เป็นศาสนทายาท ให้เป็นไปตามหลักนวลักษณ์ 9 ประการ และมีวิสัยทัศน์ที่ว่า "นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ สื่อสารได้ ทำงานเป็น เน้นจิตสาธารณะ”