การประชุมเชิงปฏิบัติการ เครือข่ายความร่วมมือปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสังคมสุขภาวะ
ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
“สังคมสุขภาวะ คือ สังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข คำถามคือจะทำอย่างไรที่จะนำไปสู่สังคมที่เราพึงปรารถนาได้ ในฐานะที่เราเป็นพระสงฆ์ หน้าที่ของพระสงฆ์คือการนำธรรมมาขัดเกลาตนเอง นำไปเผื่อแผ่ยังพระสงฆ์รูปอื่น ๆ และเผยแผ่ไปสู่คนในสังคม เพื่อให้พระสงฆ์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสร้างให้เกิดเป็นสังคมแห่งสุขภาวะที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง”
พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ประโยคที่หยิบยกขึ้นมาข้างต้นนี้ เป็นประโยคที่กล่าวโดย พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อพิจารณาจากประโยคดังกล่าวก็จะพบว่า คำว่า สังคมสุขภาวะ ไม่ว่าจะถูกนิยามโดยกลุ่มบุคคลใด ๆ ก็ตาม ความหมายล้วนมิได้แตกต่างหรือหลีกหนีกันเท่าใดนัก เนื่องจากโดยปกติมนุษย์ส่วนใหญ่มีความคาดหวังที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขกันทั้งนั้น จะแตกต่างกันก็เพียงในแง่ของบทบาทในการสร้างสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขของแต่ละกลุ่มคน พระสงฆ์ถือเป็นกลุ่มคนหนึ่งในสังคม ตามความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว พระสงฆ์มีบทบาทในการเป็นผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดผ่านการยกระดับคุณค่าทางจิตใจให้กับประชุมชน บทบาทหน้าที่ที่มีความเฉพาะตัวดังที่กล่าวมานี้ เป็นที่มาของคำถามต่อไปที่ว่า พระสงฆ์จะวางบทบาทของตนเองได้อย่างเหมาะสมภายใต้บริบททางสังคมที่มีความซับซ้อนและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างไร
โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ในฐานะที่เป็นโครงการวิจัยที่มุ่งหวังให้พระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือพระนิสิตที่สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นพระสงฆ์นักส่งเสริมสุขภาวะสู่ชุมชนและสังคม โดยอาศัยกลไกของการจัดกิจกรรมหรือโครงการปฏิบัติศาสนกิจ อีกทั้งมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญก็คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏวราชวิทยาลัย จากเป้าหมายทั้งสองข้อที่ได้กล่าวมา นำไปสู่การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายความร่วมมือปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสังคมสุขภาวะ” ที่มุ่งหวังจะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะภายใต้ความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกิดการประชุมในลักษณะดังกล่าวขึ้นจำนวน 3 ครั้งด้วยกัน โดยในแต่ละครั้งมีความคืบหน้าไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ต้นทุน ประเมินเพื่อหาจุดอ่อนและจุดแข็งภายในองค์กร การนำต้นทุนที่มีไปขับเคลื่อนเป็นกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาสุขภาวะ และแสวงหาแนวทางหรือรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนานิสิต/นักศึกษา เพื่อให้นิสิต/นักศึกษาสามารถกลายเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาสุขภาวะสู่สังคม นำไปสู่โครงการพัฒนาจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาแกนนำพระนักศึกษาเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ โครงการสุขภาพกายสุขภาพใจเพื่อการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ และโครงการสร้างแกนนำสตรีเพื่อสังคมสุขภาวะ
คณะนักวิจัยโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ นำโดย พระครูพิพิธสุตาทร ดร. ผู้รับผิดชอบโครงการ พระมหาประยูร โชติวโร และพระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต ผศ. ในฐานะเป็นผู้มีประสบการการทำงานพัฒนาพระนิสิตภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่อง มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะรับบทบาทเสมือนเป็นพี่เลี้ยง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ดังสะท้อนให้เห็นผ่านเป้าหมายของโครงการตามที่กล่าวมาข้างต้น
ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมที่มาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยได้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมคิดค้นโครงการพัฒนาศักยภาพพระนิสิต/พระนักศึกษา เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้พระนิสิต/พระนักศึกษาสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ไปสู่ชุมชน นอกเหนือจากนั้น การประชุมในครั้งนี้ยังได้ฉายให้เห็นถึงภาพความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัย เป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่จะก่อให้เกิดการทำงานพัฒนาสุขภาวะให้กับสังคมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากกว่าการทำงานอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง