สรุปการบรรยาย: การอบรมเชิงปฏิบัติการ “พระบริบาลภิกษุไข้ฯ ๑ วัด ๑ รูป ในกรุงเทพมหานคร”
ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เป็นการดำริของสมเด็จเจ้าพระคุณมหาธีราจารย์ที่อยากให้พระสงฆ์ได้ดูแลพระภิกษุที่ป่วยไข้ด้วยกันเอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีพระเถระอาวุโสหลายรูปที่เจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ จนทำให้เกิดธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เพื่อให้พระสงฆ์มีบทบาทในการดูแลในเรื่องของสุขภาวะวิถีพุทธให้กับสังคม เจ้าพระคุณสมเด็จมอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลรูปแบบสุขภาวะพระสงฆ์ว่าควรมีการปฏิบัติอย่างไร เจ้าพระคุณสมเด็จมอบหมายให้พระสุธีรัตนบัณฑิตเป็นประธานอนุกรรมการพระคิลานุปัฎฐากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จึงมีการเริ่มดำเนินการภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ๓ ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
ประเด็นที่ ๑ การอบรมพระคิลานุปัฎฐากหรือพระบริบาลภิกษุไข้ เพื่อให้มีความรู้รองรับในการดูแลตนเอง พระอาวุโส และเป็นการเข้าเยี่ยมญาติโยมที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่อาศัยในชุมชนของเรา มีการจัดอบรมถวายความรู้ในเรื่องของการรับประทานอาหาร ไขมัน เบาหวาน พฤติกรรม ความเสี่ยง การดูแลตนเอง ตลอดจนการตรวจสุขภาพและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในปัจจุบันมีจำนวนพระคิลานุปัฎฐากประมาณ ๘๐๐๐ ถึง ๙๐๐๐ รูป โดยมีเป้าหมายอยากให้มีจำนวนพระคิลานุปัฎฐากประมาณ ๓๐๐๐๐ ถึง ๔๐๐๐๐ รูป วัดละ ๑ รูปทั่วประเทศ จากการสำรวจเบื้องต้นภายในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีวัดประมาณ ๖๐ ถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ที่เข้าร่วมและยังมีวัดอีกประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ได้เข้าร่วม
ประเด็นที่ ๒ วัดส่งเสริมสุขภาพต้องการให้วัดเป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมสุขภาพเป็นการดำริของสมเด็จเจ้าพระคุณมหาธีราจารย์ให้มีตู้ยาสามัญประจำวัด ในตอนนี้อยากให้มีการจัดตั้งกุฏิสุขภาพพื้นที่สุขภาพในวัด เมื่อเข้าไปวัดไหนจะต้องมีห้องพยาบาล ตู้ยา เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มบทบาทของพระสงฆ์ให้มีความโดดเด่น
ประเด็นที่ ๓ งานสาธารณะสงเคราะห์ด้านสุขภาพ เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระคุณมหาธีราจารย์เล็งเห็นถึงวิกฤตสุขภาพที่มีความยากลำบากและงานด้านสาธารณะสงเคราะห์ เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและพระภิกษุสงฆ์เจ็บป่วยจะได้รับจตุปัจจัยพื้นฐานเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงญาติโยมที่ขาดเหลือและได้รับความเดือดร้อน ในปี ๒๕๖๓ การดำเนินงานปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-๑๙ ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของวัดและกลุ่มพระคิลานุปัฎฐากที่จะเป็นกำลังสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามที่ภาครัฐจัดสรรไว้ได้
หลังจากที่ดำเนินการจัดทำศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ดำเนินการทำพระคิลานุปัฎฐาก ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความเห็นให้ดำเนินการจัดทำถอดบทเรียนเพื่อจัดทำคู่มือการดำเนินงานในลักษณะต่าง ๆ ประด้วย
คู่มือเล่มที่ ๑ คู่มือสำหรับผู้บริหารในการจัดการศูนย์พักคอยชุมชน เมื่อพูดถึงสุขภาพหรือเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเราจะเดินทางไปรักษาตัวที่ศูนย์อนามัย ถ้าป่วยหนักจะเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล หากพื้นที่ของโรงพยาบาลและภาครัฐไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ได้ จึงมีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยหรือที่เรียกว่า Community Isolation พื้นที่ชั่วคราวรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ ศูนย์พักคอยจะต้องรองรับผู้ป่วยเบื้องต้น ในสถานการณ์ปกติจะรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตไม่เกิน 180 มิลลิเมตรปรอท หากในสถานการณ์โควิด-๑๙ จะรองรับเพียงผู้ป่วยติดเชื้อในกลุ่มสีเขียวเพียงเท่านั้น ศูนย์พักคอย (Community Isolation) จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมสถานที่ให้มีอากาศที่ถ่ายเท มีการปฐมนิเทศการปฏิบัติงาน การจัดเตรียมอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็น สิ่งอุปโภคบริโภค ระบบขนส่ง ระบบสื่อสาร ระบบสุขาภิบาล และระบบความปลอดภัย เป็นต้น ในการดำเนินการจะต้องประกอบด้วย ๓ ทีมสำคัญ ได้แก่ ทีมที่ ๑ ทีมผู้บริหารศูนย์พักคอย (Community Isolation) จะก่อตั้งศูนย์พักคอยได้ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลแม่ข่ายหรือสถานพยาบาลในพื้นที่ หากจะจัดตั้งศูนย์พักคอยจะต้องมีความรู้ทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานทั้งการวัดไข้ วัดค่าออกซิเจน และการวัดความดันโลหิตที่เป็นพื้นฐาน ในการดำเนินงานของวัดสุทธิจะแบ่งออกเป็น ๓ ทีมสำคัญ ประกอบด้วย ทีมบริหารกลาง จะมีหมอพยาบาลจากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์และโรงพยาบาลสงฆ์เข้ามาดูแลภาพรวม ทีมพยาบาลกลาง หมอจะเป็นผู้ประเมินเกณฑ์สีของผู้ป่วยและติดตามภาวะแทรกซ้อน ทีมจิตอาสาพระคิลานุปัฎฐากและพระบริบาลภิกษุไข้ จะดำเนินการวัดไข้ วัดความดัน วัดออกซิเจนในเลือด และดูปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ หากอยู่ในสถานการณ์ปกติจะ วัดไข้ วัดความดันให้กับพระภิกษุที่เจ็บไข้ได้ป่วย
คู่มือเล่มที่ ๒ คู่มือสำหรับพระสงฆ์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-๑๙ เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้พื้นที่วัดรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ จะเห็นได้ว่าพระสงฆ์ในกรุงเทพมหานครเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยวัดที่มีความพร้อมจะดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์พักคอยในพื้นที่วัด ส่วนวัดที่มีความพร้อมในระดับกลางจะให้การสนับสนุนในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก รถยนต์ และอาหาร ในการดำเนินงานมีพระสงฆ์เข้ามาเป็นจิตอาสาช่วยเหลือดูแลญาติโยมในด้านต่าง ๆ ศูนย์พักคอยในวัด (Temple Isolation) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ผ่านความร่วมมือกับโรงพยาบาลและชุมชนโดยมีวัดเป็นส่วนกลางในการรวมตัว จะเห็นได้ว่าวัดในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและวัดในพื้นที่อื่น ๆ ได้ดำเนินงานร่วมกันในหลายมิติจนนำไปสู่การช่วยเหลือภาครัฐในการรองรับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาในระบบได้ โดยการจัดตั้งศูนย์พักคอยจะต้องมี มาตรฐานที่ตรงตามกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรส่งเสริมสุขภาพที่ได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ศูนย์พักคอยในวัดเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลสนามที่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ ภายในชุมชนได้แล้วนั้น ยังเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการที่ดีและมีความพร้อมสำหรับการเป็นพื้นที่สำหรับช่วยเยียวยาจิตใจตามหลักพระพุทธศาสนาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ กระบวนการเฝ้าระวังการแก้ไขปัญหาของโควิด-๑๙ ที่ทางพระภิกษุดำเนินการ ได้แก่ (๑) การจัดตั้งศูนย์พักคอย มีการปรับปรุงอาคารพื้นที่วัดให้เป็นศูนย์พักคอยเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ทั้งพระภิกษุ ประชาชน และแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ใกล้เคียง (๒) การส่งเสริมจิตอาสาวิถีพุทธ เป็นการเปิดรับผู้มีจิตอาสาที่ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-๑๙ (๓) การเปิดโรงครัวเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ทางวัดสุทธิจัดตั้งโรงครัวเพื่อจัดทำอาหารเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน (๔) การบริจาคถุงยังชีพ ดำเนินกิจกรรมบรรจุถุง ยังชีพที่ประกอบด้วยอาหารและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบรรเทาความทุกข์ให้กับประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ (๕) การจัดตู้พระธรรมปันสุข ภายในตู้พระปันสุขจะมีลักษณะที่คล้ายกับตู้ใส่สิ่งของเครื่องใช้ โดยจะนำอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตและการเข้ามาบริจาคของผู้มีความศรัทธามาใส่ไว้ในตู้ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน (๖) กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพชุมชน ทางคณะสงฆ์ดำเนินการร่วมมือกับสำนักงานเขตในการกำหนดรูปแบบการสร้างความร่วมมือที่ในการดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์พักคอยของผู้ป่วยติดเชื้อ-๑๙ ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและเกิดการบูรณาการของกิจกรรมได้เป็นอย่างดี (๗) การเป็นศูนย์กลางสำหรับบริจาคสิ่งของไปสู่ชุมชนที่เดือดร้อน เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับจากผู้มีศรัทธา จำนวนมากเกินกว่าความจำเป็น ทางวัดจึงมีการดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือและดูแลชุมชนใกล้เคียงภายในพื้นที่วัดผ่านการจัดส่งอาหาร สิ่งอุปโภคบริโภค และยารักษาโรคให้แก่ชุมชนใกล้เคียงเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต (๙) การเผาศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ดำเนินการเผาศพให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพื่อทำการสงเคราะห์ประชาชนและยังเป็นบทบาทสำคัญในการบูรณาการเครือข่ายการสงเคราะห์ประชาชน
คู่มือเล่มที่ ๓ คู่มือการจัดการสุขภาวะชุมชนสำหรับผู้นำชุมชนจิตอาสาและประชาชน ในสถานการณ์วิกฤตทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ก่อให้เกิดบทบาทของความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น หากเกิดวิกฤตผู้มีจิตอาสาจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหน้าที่ของจิตอาสาคือการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนในการดำเนินงานและทางวัดมีหน้าที่ดูแลพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ให้กับจิตอาสา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ คุณสมบัติของจิตอาสาจะต้องมีอายุไม่เกิน ๖๔ ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่เป็นโรคหัวใจ โรคเรื้อรัง และโรคติดต่อ ต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย การประเมิน การให้คำแนะนำ ความรู้พื้นฐานในการป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย วิธีการใส่ชุดป้องกันตนเอง (PPE) การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับการติดต่อสื่อสารระดับเบื้องต้น และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสวัสดิการการรักษาพยาบาล ในกระบวนการดำเนินงานจะมีแนวทางการจัดแบ่งกลุ่มอาสาสมัครอย่างชัดเจนจะแบ่งอาสาสมัครออกเป็น ๖ ทีม ประกอบด้วย (๑) ทีมดูแลผู้ป่วย จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุดและต้องสวมใส่ชุด PPE ตลอดเวลา (๒) ทีมจัดการงานบริการทั่วไป มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องอุปกรณ์ สิ่งอุปโภคบริโภค ภาชนะของผู้ป่วย และการทำความสะอาด (๓) ทีมจัดการงานบริการทะเบียนและประสานงาน ดำเนินการประสานงาน เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยและจิตอาสา รวมถึงการตรวจสอบสิทธิการรักษา (๔) ทีมสื่อสาร ติดต่อครอบครัวของผู้ป่วยและทีมแพทย์พยาบาล (๕) ทีมดูแลสังคมและจิตใจ พูดคุยและประเมินความต้องการ ความกังวล และความเครียดของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ (๖) ทีมดูแลสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม ดูแลทั้งในเรื่องของการจัดการขยะติดเชื้อและการบำบัดน้ำเสียภายในศูนย์พักคอย โดยอาสาสมัครจะมีหน้าที่ในการติดตามอาการผู้ป่วย ดูแลในเรื่องของการวัดไข้ วัดค่าออกซิเจน การจ่ายยาตามคำสั่งของแพทย์ ดูแลผู้ป่วยในเรื่องของการรับประทานยา การประเมิน ติดตามอาการ และมีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยบริการทางสาธารณสุขเพื่อปรึกษากรณีที่มีผู้ป่วยที่มีอาการทรุดตัว ในส่วนสถานการณ์ปกติจิตอาสาจะดำเนินการในเรื่องของการจัดการขยะในชุมชน การดูแลพื้นที่ส่วนกลาง ระบบไฟฟ้า และการป้องกันเหตุเพลิงไหม้