การพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล สำหรับคณะสงฆ์ภาค 12-13
โครงการเสริมสร้างสุขภาวะเชิงพุทธของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ในสังคมไทย ภายใต้สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "การพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล สำหรับคณะสงฆ์ภาค 12-13" ณ โรงเรียนมัธยมวัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีพระสงฆ์ที่ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายเผยแผ่, ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และประธาน อ.ป.ต. ต้นแบบ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดชลบุรี และจังหวัดตราด รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้
ตลอดระยะเวลา 2 วัน ผู้เข้าร่วมการอบรมได้รับฟังการบรรยายจากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถหลายท่านด้วยกัน อาทิ พระเทพรัตนมุนี ผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 12 เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยาย เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการอธิบายถึงบริบทของคณะสงฆ์ภาค 12 และภาค 13 ทั้งในเรื่องของลักษณะงานที่คณะสงฆ์ปฏิบัติ ความคาดหวังของสังคมต่อคณะสงฆ์ และสิ่งที่พระสงฆ์ควรปฏิบัติต่อสังคม เพื่อสร้างศรัทธาให้คนในสังคมต่อพระพุทธศาสนา
พระพิศาลศึกษากร เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี บรรยายในหัวข้อ "ระเบียบและแนวปฏิบัติของหน่วยอบรมประชาชน (อ.ป.ต.)" มีเนื้อหาส่วนใหญ่ที่อธิบายถึงสถานการณ์การทำงาน อ.ป.ต. ของคณะสงฆ์จังหวัดปราจีนบุรี
พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ. ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ "รูปแบบและบทเรียน การพัฒนากิจกรรมและโครงการพัฒนาของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ในยุค 4.0" เป็นการฉายภาพให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันทางพระพุทธศาสนากับสังคมสมัยใหม่ เพื่อชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้เกิดแนวคิด การริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่การเกิดกิจกรรมและนวัตกรรมในพื้นที่ โดยอันดับแรก ต้องมีการวิเคราะห์บริบทของพื้นที่ตนเองเสียก่อน ว่ามีจุดเด่นในเรื่องใด มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขอย่างไร
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการอบรมยังได้มีโอกาสเขียนโครงการพัฒนา ผ่านการให้ข้อคิดเห็นจากพระสิทธิธรรมวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศวรมหาวิหารและเลขานุการเจ้าคณะภาค 12 เพื่อให้เกิดการวางแผน การคิดกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานทั้ง 8 ด้าน ของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมสุขภาวะวิถีพุทธ พัฒนาชุดความรู้สำหรับขับเคลื่อนเครือข่ายหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ตอบสนองการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ ตลอดจนการ “พลิกฟื้น” และ “เปลี่ยนผ่าน” ให้องค์กรพระพุทธศาสนากลับมาเป็นศูนย์กลางทางปัญญาและสุขภาวะของชุมชนต่อไป