top of page
13161295_1380588118624438_970820660_o.jp

พระนิสิตกับการปฏิบัติศาสนกิจสู่สังคม

พระนิสิตจิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคม ตามหลักนวลักษณ์ 9 ประการ สู่การสนองงานกิจการคณะสงฆ์

พระนิสิตกับการปฏิบัติศาสนกิจสู่สังคม

พระนิสิตจิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคม ตามหลักนวลักษณ์ 9 ประการ สู่การสนองงานกิจการคณะสงฆ์

     ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของบทความในครั้งนี้ ผมอยากเชิญชวนให้เราทุกคนกลับมาทบทวนความคิดของตนเอง ในประเด็นเกี่ยวกับความคาดหวังที่เรามีต่อสถาบันทางศาสนา รวมทั้งบทบาทของศาสนาที่พึงมีต่อสังคม

     พระสงฆ์ ในฐานะผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาควรวางตำแหน่งบทบาทของตนเองต่อสังคมมากน้อยเพียงใด และสถาบันทางศาสนายังคงมีความสำคัญต่อสังคมสมัยใหม่อยู่หรือไม่

​     ประเด็นคำถามดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นใหม่ หากเป็นประเด็นที่เกิดการถกเถียงกันมาแล้วอย่างยาวนาน ไม่ใช่เฉพาะกับพุทธศาสนาที่ถูกตั้งคำถาม ศาสนาอื่น ๆ ก็ล้วนผ่านการถูกตั้งคำถามมาแล้วทั้งสิ้น

​     ฟรีดิช นิชเช (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ได้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า The Gay Science ที่มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุไว้ว่า “พระเจ้าตายแล้ว” เป็นการสื่อถึงนัยยะที่ว่าในปัจจุบันนั้น คนได้เสื่อมศรัทธาในศาสนาไปมาก

​     ในขณะที่ ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ (Peter Berger) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน กลับมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป โดยเบอร์เกอร์อธิบายว่า การที่โลกสมัยใหม่เจริญขึ้นไม่จำเป็นต้องหมายความว่าศาสนาจะเสื่อมลง ศาสนายังมีประโยชน์และมีความสำคัญสำหรับชีวิตในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต

​     เป็นประเด็นที่ยากเป็นอย่างยิ่ง หากจะพิจารณาว่าใครเป็นคนผิดหรือเป็นคนถูก เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของการตีความและทัศนคติของแต่ละบุคคล แต่หากเราทั้งหลายลองเปิดใจกับบทบาทใหม่ ๆ ที่สถาบันทางศาสนามีต่อสังคม ร่วมเรียนรู้ ร่วมทำความเข้าใจ สถาบันทางศาสนาก็จะยังคงเป็นสถาบันหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ดังเช่นที่เป็นมาแล้วในอดีต

IMG_2924.JPG
IMG_1857.JPG

การปฏิบัติศาสนกิจคืออะไร

​     ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเด็นการทำงานของพระสงฆ์มีความหลากหลาย ที่ไม่จำกัดเฉพาะในเรื่องของการถ่ายทอดหลักธรรม หรือในด้านพิธีกรรมทางศาสนาเพียงอย่างเดียว หากยังครอบคลุมทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม

DSC_3114 copy.jpg

การปฏิบัติศาสนกิจคืออะไร ?

​     พระโสภณพัฒโนดม พระสงฆ์ผู้ริเริ่มการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ริเริ่มพิธีกรรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบวชป่าหรือการสืบชะตาแม่น้ำ

​     พระสุบิน ปณีโต เป็นพระสงฆ์ผู้ริเริ่มในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ มีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชนในเรื่องของเศรษฐกิจ สร้างสวัสดิการ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน ภายใต้การนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม 

​     ผลงานของพระสงฆ์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ได้หล่อหลอมอุดมการณ์ สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับพระสงฆ์ในรุ่นหลัง หลายท่านได้กลายเป็นต้นแบบของการทำงาน หลายกิจกรรมยังถูกสืบสานและต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

IKATc-6254.jpg

     พระนิสิตในฐานะที่เป็นผู้สวมหมวกสองใบในเวลาเดียวกัน ใบหนึ่งคือการดำรงสถานะเป็นพระสงฆ์ และอีกใบหนึ่งในฐานะที่เป็นนิสิต ย่อมเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดทางความคิดและแนวทางการทำงานจากพระสงฆ์รุ่นก่อนเช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสนใจตรงที่ว่าการดำรงสถานะทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันนั้น พระนิสิตเหล่านี้สามารถวางตำแหน่งของตนเองได้อย่างไร และสามารถมีการยึดโยงกับสังคมผ่านกิจกรรมในรูปแบบใดได้บ้าง

​     เราหลายคนอาจเคยผ่านการฝึกงานในช่วงการเรียนมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นกระบวนการหนึ่งก่อนการสำเร็จการศึกษา การฝึกงานต้องมีความยึดโยงกับสาขาวิชาที่เรียนไม่มากก็น้อย เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง และยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์จริงหากต้องออกไปทำงานหลังจากจบการศึกษา

​     เช่นเดียวกันกับพระนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่จะต้องผ่านการปฏิบัติศาสนกิจก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ดังปรากฏเนื้อหาอยู่ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย พระนิสิตเหล่านี้ต้องคิดโครงการขึ้นมา 1 โครงการ เป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานกิจการคณะสงฆ์ 6 ประการ ได้แก่ งานด้านการปกครอง งานด้านศาสนศึกษา งานด้านศึกษาสงเคราะห์ งานด้านการเผยแผ่ งานด้านสาธารณูปการ และงานด้านสาธารณสงเคราะห์

​     การปฏิบัติศาสนกิจ จึงเปรียบเสมือนเป็นช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้พระนิสิตสามารถทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การปฏิบัติศาสนกิจมีพัฒนาการตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มีการถอดบทเรียนจากกิจกรรมที่พระสงฆ์รุ่นก่อนเคยกระทำไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโครงการพระธรรมทายาท หรือ ภิกษุใจสิงห์ ที่ริเริ่มโดยพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)

     ดังนั้น การปฏิบัติศาสนกิจจึงไม่ใช่เพียงการกวาดลานวัด การแสดงธรรม หรือการออกบิณฑบาตเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเป็นกิจกรรมที่มีความยึดโยงกับสังคม เกิดประโยชน์หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน โดยอาจจะไม่ต้องเกิดผลลัพธ์ที่ส่งผลกระทบในภาพใหญ่  แต่อย่างน้อยที่สุด การปฏิบัติศาสนกิจถูกคาดหวังว่าจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างการกระบวนการเรียนรู้ให้กับตัวพระนิสิตผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

IMG_3190.JPG

พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจกับความคาดหวังที่มีต่อสังคม

พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจกับความคาดหวังที่มีต่อสังคม

​     “อยากเห็นสังคมและชุมชนมีความสงบสุข สามัคคี  ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตภายใต้ศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ”

​     “อยากเห็นวัดเป็นผู้นำพาชุมชนในบริเวณใกล้เคียงให้เกิดความสันติสุข สามัคคี และสามารถพัฒนาให้เกิดความเจริญขึ้นภายในชุมชน”

​     “ฯลฯ”

​     เราทุกคนล้วนคาดหวังให้ชุมชนและสังคมที่เราอยู่อาศัยมีสภาวะที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราอาจเคยได้ยินความคาดหวังมากมายจากคนใกล้ชิด เพื่อนสนิท มิตรสหาย หรือบุคคลของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ดารา นักแสดง หรือศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักการเมืองที่กำลังประชุมกันอยู่ภายในรัฐสภาในช่วงระยะเวลานี้

​     แต่จะเป็นเช่นไร หากความคาดหวังต่อสังคมไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะแต่ในกลุ่มคนที่กล่าวมาข้างต้น

​     นี่เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากอีกหลายพันเสียงสะท้อนของพระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการออกมาแสดงฝีมือรวมทั้งความคาดหวังของตนเองต่อการปฏิบัติศาสนกิจสู่สังคม ที่พยายามส่งเสียงและแสดงออกผ่านงาน “การปฐมนิเทศนิสิตก่อนออกปฏิบัติศาสนกิจ” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 (เวทีภาคเหนือ) ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 (เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 (เวทีภาคกลาง) ที่ผ่านมา และจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 (เวทีภาคใต้) ที่กำลังจะถึงนี้

​     งานดังกล่าวถูกจัดขึ้นภายใต้ความต้องการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่พยายามจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับพระนิสิตผ่านการออกไปทำงานร่วมกับชุมชน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทใหม่ ๆ ของมหาวิทยาลัย ที่นอกเหนือจากการมีบทบาทในเรื่องของการให้ความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังเป็นสถานที่แห่งการเปิดโอกาสในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน

20190705_๑๙๐๗๐๘_0103.jpg
20190705_๑๙๐๗๐๘_0011.jpg

​     ในแต่ละปี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ส่งพระนิสิตออกปฏิบัติศาสนกิจมากกว่า 1,000 รูป นั่นหมายความว่าจะมีพระนิสิตที่ออกไปทำกิจกรรมกับชุมชนในรูปแบบของโครงการมากกว่า 1,000 โครงการทั่วประเทศ โดยแต่ละโครงการจะดำเนินการตามกรอบที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดเช่น มีความสอดคล้องกับกิจการคณะสงฆ์อย่างไร ตรงตามหลักนวลักษณ์ 9 ประการของทางมหาวิทยาลัยหรือไม่

​     กิจกรรมเวทีปฐมนิเทศนิสิตก่อนออกปฏิบัติศาสนกิจ เสมือนเป็นความพยายามเพื่อที่จะสื่อสารไปยังสังคมภายนอก ถึงบทบาทของสถาบันทางศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับพระนิสิตก่อนออกปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อเป็นการทบทวนถึงเป้าหมายและความคาดหวังที่แต่ละรูปนั้นมี ซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติศาสนกิจมีรูปแบบและประเด็นการดำเนินการที่หลากหลาย หลายรูปปฏิบัติศาสนกิจภายใต้ประเด็นที่ตนเองมีความสนใจ บางรูปให้ความสำคัญกับปัญหาภายในชุมชน และในจำนวนมากมีการดำเนินการภายใต้ต้นทุนที่ตนเองและชุมชนนั้นมี

S__25624653.jpg
S__25632772.jpg

​     ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสติดตามโครงการปฏิบัติศาสนกิจหลายโครงการทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ยังมีพระนิสิตที่ยังคงทำงานภายในพื้นที่แม้จะสำเร็จการศึกษาไปแล้ว อาทิเช่น

​     โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อสุขภาวะที่ดี (วัดสันติวิเวก ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์)

​     โครงการโพนค่าย FC 4.0 และการแอโรบิคส่งเสริมสุขภาพ (วัดโพนค่าย ตำบลน้ำหมาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย)

​     ความยั่งยืนของโครงการปฏิบัติศาสนกิจถือเป็นความคาดหวังลึก ๆ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีต่อพระนิสิต พูดโดยง่ายก็คือ การที่พระนิสิตออกปฏิบัติศาสนกิจนั้นถือเป็นกำไร ไม่ว่าโครงการนั้นจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มากหรือน้อยกับชุมชนอย่างไรก็ตาม แต่กำไรที่ได้จะมากกว่านั้น หากโครงการที่ดำเนินการโดยพระนิสิตเกิดความยั่งยืนในพื้นที่

S__25567337.jpg

​     อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการทำงานของพระนิสิตได้ดำเนินไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการเชื่อมโยง การร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ กิจกรรมของเวทีในครั้งนี้จึงมีกระบวนการในส่วนของการสร้างกลุ่มเพื่อให้เกิดเครือข่ายในการติดต่อประสานงานและการแลกเปลี่ยนระหว่างพระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ การเลือกตั้งประธานในแต่ละภูมิภาค และประธานในด้านต่าง ๆ ของงานกิจการคณะสงฆ์ เพื่อให้เกิดโครงสร้างการทำงานที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนงานด้านการปฏิบัติศาสนกิจ ตอบสนองพันธะกิจของมหาวิทยาลัย รวมทั้งสามารถสะท้อนความคิดเห็นกลับมายังผู้บริหารได้ สิ่งดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้การปฏิบัติศาสนกิจเกิดความยั่งยืนได้ต่อไป

 ​

​     ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นบทบาทของพระนิสิตในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสถาบันทางศาสนา ภายใต้บริบททางสังคมปัจจุบัน ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ศาสนายังสามารถทำหน้าที่อย่างที่เคยมีดังเช่นในอดีต การปฏิบัติศาสนกิจในฐานะที่เป็นรูปแบบการทำงานรูปแบบหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้พระนิสิตเกิดกระบวนการเรียนรู้ และสามารถทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่สังคม มีหลายโครงการที่สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ และมีอีกหลายโครงการเช่นกันที่แม้ว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน แต่โครงการเหล่านี้ก็ยังมีการถูกนำกลับมาปัดฝุ่นและดำเนินการในพื้นที่ใหม่ ๆ โดยพระนิสิตรุ่นหลังที่มองเห็นว่าโครงการเหล่านี้ยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน การปฏิบัติศาสนกิจจึงเปรียบเสมือนกับฤดูกาลที่ดำเนินไปไม่รู้จบ เพราะถึงแม้ฤดูร้อนจะจบสิ้นลง แต่ก็จะมีฤดูกาลใหม่ ๆ ที่เข้ามาแทนที่ต่อไป

bottom of page