แนะนำคู่มือเรื่อง “การขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา”
สภาพสังคมที่ประชาชนถูกควบคุมด้วยตัวเลขของเวลา สภาวะการแข่งขันที่แฝงอยู่ในทุกอณูของสังคม ปัญหาความเครียดสะสมที่มาจากความกดดัน และความสำเร็จของลัทธิบริโภคนิยมที่ถูกถ่ายทอดผ่านการโฆษณาชวนเชื่อในช่องทางต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเฉกเช่นปัจจุบัน แม้จะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเจริญทางด้านวัตถุอย่างมากมาย แต่ก็เกิดผลกระทบที่นำไปสู่ปัญหาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบกับประชาชนก็คือ ปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diseases) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรค NCDs” กลุ่มโรคชนิดนี้ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน ไขมันสูง เกาต์ ไตวาย เป็นต้น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของประเทศไทย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 70 สำหรับในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นว่า ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะความเจ็บป่วยจากการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8.9 ส่วนโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 (ข้อมูลในปี 2557) ซึ่งสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การบริโภคอาหารเกินความจำเป็นทั้งปริมาณและสารอาหาร การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการละเลยต่อพฤติกรรมการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจำนวนมากและสิ่งฟุ่มเฟือยต่าง ๆ แล้ว ประชาชนยังต้องสูญเสียเงินทองไปกับการรักษาพยาบาล การซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม รวมทั้งการต้องหมดค่าใช้จ่ายไปกับค่าคอร์สลดน้ำหนักและคอร์สออกกำลังกายอีกด้วย
ปัญหาทางด้านสุขภาพที่มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจในระดับบุคคลเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่องบประมาณรายจ่ายของประเทศอีกด้วย โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นว่า รายจ่ายสุขภาพรวม (total health expenditure) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีเฉลี่ยร้อยละ 16.8 (ข้อมูลในปี 2555 งบประมาณในส่วนนี้อยู่ที่ 513,213 ล้านบาท) สะท้อนถึงปัญหาทางด้านสุขภาพของประชาชนที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อพิจารณาถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงและน่าเป็นห่วงมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคม พระสงฆ์ คือกลุ่มบุคคลที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งการไม่สามารถเลือกฉันท์อาหารเองได้ พระสงฆ์ต้องฉันท์อาหารที่ได้รับการถวายจากฆราวาส (บุคคลที่ไม่ได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์) เพียงเท่านั้น และยังต้องสงวนท่าทีให้สำรวมเหมาะสม เกิดเป็นข้อจำกัดในเรื่องของการออกกำลังกาย ซึ่งมีเหตุผลมาจากหลักพระธรรมวินัยที่ท่านต้องยึดถือปฏิบัติ พระสงฆ์ต้องประสบกับปัญหาการอาพาธเจ็บป่วยในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มบุคคลอื่น ๆ โดยจากข้อมูลของโรงพยาบาลสงฆ์พบว่า มีพระสงฆ์เข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี และส่วนใหญ่ต่างต้องเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแทบทั้งสิ้น ข้อมูลในปี 2558 พบว่า 5 อันดับโรคที่พบได้บ่อยในพระสงฆ์ได้แก่
1) โรคเมตาบอลิซึมและไขมันในเลือดผิดปกติ 2) โรคความดันโลหิตสูง 3) โรคเบาหวาน 4) โรคไตวายหรือไตล้มเหลว และ 5) โรคข้อเข่าเสื่อม
บทบาทพระสงฆ์กับการทำงานสุขภาวะอย่างยั่งยืน
บทบาทพระสงฆ์กับการทำงานสุขภาวะอย่างยั่งยืน
"อาโรคฺยปรมา ลาภา"
ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
เป้าหมายหลักของพระพุทธศาสนาคือการดับทุกข์ คำว่า ทุกข์ เป็นคำบาลีที่มีความหมายเฉพาะในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้นิยามคำนี้ไว้ว่า “ความทรมาน ความโศก ความเจ็บปวด ความป่วยไข้ ความเศร้าหมอง ความเดือดร้อนใจ ความไม่สบาย ความไม่พึงพอใจ สถานการณ์ที่มีปัญหาความเครียดและความขัดแย้ง” หากพิจารณาจากคำนิยามดังกล่าว ความเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ย่อมนำไปสู่ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ และเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างฉับพลัน พุทธศาสนาสอนถึงวิธีการดับทุกข์ ดังปรากฏอยู่ในหลักธรรมชื่อว่า อริยสัจ 4 ที่สอนว่า มีทุกข์ มีเหตุแห่งทุกข์ มีความดับทุกข์ และมีมรรคาสู่ความดับทุกข์ (นิพพาน) แต่เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เน้นการลงมือปฏิบัติ เป็นปรัชญาที่มีความเป็นนามธรรมสูง การศึกษาหลักธรรมเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความทุกข์ต่าง ๆ ของคนในสังคมได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำปรัชญาเหล่านี้ไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ปรัชญาที่มีความเป็นนามธรรมกลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
ความเสี่ยงทางด้านสุขภาพของพระสงฆ์ได้กลายเป็นวาระที่ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ดังปรากฏเนื้อหาอยู่ในวาระมติที่ 191/2560 ของสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2) ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฐฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ 3) บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยมีหลักการสำคัญคือการใช้หลักธรรมนำทางโลก มีมาตรการในการดำเนินการ 5 ด้าน คือ ความรู้ ข้อมูล การพัฒนา การบริการสุขภาพ และการวิจัย เป็นการแสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันนั้น คณะสงฆ์เองได้เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ทางด้านสุขภาพ และพยายามที่จะวางบทบาทของตนเองในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสุขภาวะสู่สังคม
พระสงฆ์ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของพุทธศาสนาต่างริเริ่มดำเนินการกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ หนึ่งในโครงการที่มีผลงานเป็นรูปธรรมที่สุดโครงการหนึ่งก็คือ โครงการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5”
โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นนโยบายสำคัญของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่ดำริให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศน้อมนำหลักศีล 5 ไปสู่การปฏิบัติกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองและประโยชน์สุขของประชาชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยยึดมั่นคำสอนทางพระพุทธศาสนา หลักธรรมศีล 5 ข้อ เปรียบเสมือนเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต เป็นข้อปฏิบัติที่จะนำพาสังคมไปสู่สภาวะที่เป็นปกติสุข หรือที่เรียกว่า “สังคมแห่งสุขภาวะ” และสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้หากมีการน้อมนำไปปฏิบัติใช้ จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2560 แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่มีมากถึง 41,435,024 คน แม้จะมีหลายฝ่ายให้ข้อคิดเห็นว่าจำนวนผู้เข้าร่วมที่มหาศาลดังกล่าว ไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบต่อสังคมที่มาจากโครงการก็ตาม
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง การเสริมสร้างสุขภาวะและการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนา โดยพระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. (สุทิตย์ อบอุ่น) ได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าว ผ่านการลงพื้นที่ศึกษาเครือข่ายพระสงฆ์ที่รับนโยบายของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 มาปฏิบัติในพื้นที่ เครือข่ายเหล่านี้ได้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลต่อการยกระดับและพัฒนาสุขภาวะให้กับชุมชนครอบคลุมทุกมิติ (กาย จิต ปัญญา สังคม) อาทิ กิจกรรมอบรมเยาวชน กิจกรรมสุขภาพอนามัยชุมชน กิจกรรมการจัดตั้งกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กิจกรรมคุ้มครองสัตว์ป่าและเขตอภัยทาน กิจกรรมส่งเสริมทักษะการพูด กิจกรรมการลด ละ เลิก อบายมุขและยาเสพติด กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา กิจกรรมการออกกำลังกาย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการผ่านโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 นั้น สามารถยกระดับการพัฒนาสุขภาวะให้กับสังคมได้
ศีลข้อที่ 1 เป็นหลักประกันชีวิต
ศีลข้อที่ 2 เป็นหลักประกันทรัพย์สิน
ศีลข้อที่ 3 เป็นหลักประกันครอบครัว
ศีลข้อที่ 4 เป็นหลักประกันสังคม
ศีลข้อที่ 5 เป็นหลักประกันสุขภาพ
ที่มา : ครูบาชัยวงศา วัดพระบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นเดิมยังอธิบายให้ทราบเพิ่มเติมว่า คณะสงฆ์เองยังได้ดำเนินโครงการอื่น ๆ ที่มีผลงานเชิงประจักษ์นอกเหนือจากโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 อาทิ การขับเคลื่อนกิจกรรมของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ที่มีกรอบการดำเนินงาน 8 ด้าน 1) ศีลธรรม 2) สุขภาพอนามัย 3) สัมมาชีพ 4) สันติสุข 5) ศึกษาสงเคราะห์ 6) สาธารณสงเคราะห์ 7) กตัญญูกตเวทิตาธรรม 8) สามัคคีธรรม
โครงการสวดมนต์ข้ามปี ที่ให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นชีวิตด้วยสติและสิริมงคลในช่วงเทศกาลปีใหม่ แทนที่จะเป็นการเฉลิมฉลองโดยอาศัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขอื่น ๆ
โครงการวัดบันดาลใจและวัดสร้างสุขด้วย 5 ส. : โครงการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัดสู่การเป็นพื้นที่สัปปายะ โดยใช้หลัก 5 ส. ประกอบด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย
กิจกรรมและโครงการที่ยกตัวอย่างมาเบื้องต้น เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานโดยคณะสงฆ์ ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่เรียกว่า กิจการคณะสงฆ์ 6 ด้าน (การปกครอง ศาสนศึกษา เผยแผ่ สาธารณูปการ ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์) เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของพระสงฆ์ที่พยายามปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม ผลลัพธ์จากกิจกรรมและโครงการจำนวนมากได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นของชุมชน เกิดการทำงานเชิงเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ ที่จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ชวนอ่าน “คู่มือการขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา”
คำนิยมโดย
พระเทพปวรเมธี, รศ.ดร.
บรรณาธิการร่วม
พระศรีสมโพธิ, ดร.
รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์
คู่มือการขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนา ชุดความรู้ที่ได้จากการขับเคลื่อนงานโครงการเสริมสร้างสุขภาวะและเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ ที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คู่มือดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศให้กับคณะสงฆ์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงสู่สังคม โดยจะชี้ชวนให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปัจจัยเสี่ยง วิธีการลดปัจจัยเสี่ยงโดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ พัฒนาการในการขับเคลื่อนงานเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงของสถาบันทางศาสนาและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพื้นที่ เครือข่าย และชุมชนต้นแบบ ที่สามารถลด ละ เลิก จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นคู่มือหนึ่งที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการลดปัจจัยเสี่ยงโดยใช้วิธีการทางพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ หากผู้อ่านมีความสนใจอยากอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้
แหล่งอ้างอิง
http://www.thaincd.com/document/file/download/paper-manual/NCDUNIATF61.pdf
http://www.thaincd.com/document/file/info/non-communicable-disease/NCDClinic_Plus_2562.pdf
https://docs.wixstatic.com/ugd/c28c69_4896d3c583d349c8b69cf9396d18ec8e.pdf
https://docs.wixstatic.com/ugd/c28c69_641bb0224b7444b4912b2190676de8f3.pdf