top of page

“วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย             

         บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย

               บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย                 

                      ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง”

                     สถาบันหลักในสังคม บ้าน วัด โรงเรียน มีอิทธิพลต่อแนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม เป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง ๓ สถาบันนี้เป็นกระบวนการภาคประชาสังคมที่เป็นกลไกสำคัญในการเสริมพลังพัฒนาเยาวชน สร้างภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนส่งผลต่อการเกิดทักษะชีวิตในสังคม ดังนั้น คณะทำงานขับเคลื่อนการเสริมสร้างเครือข่ายสุขภาวะอย่างยั่งยืนด้วย “บวร”เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงตามแนวพระพุทธศาสนาในจังหวัดลำปาง จึงประสานการดำเนินงานไปยังโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย โดยคณะทำงานขับเคลื่อนฯ เลือกโรงเรียนการกุศลของวัดเนื่องจากได้รับแนวคิดจาก พระจินดารัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง กล่าวไว้ว่า “การจะแก้ไขลดปัญหาอบายมุขในชุมชนได้ ต้องมีคณะสงฆ์ร่วมขับเคลื่อน เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ ยกย่องให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ”

                 จากข้อความดังกล่าวจึงทำให้คณะทำงานเลือกที่จะขยายผลไปยังโรงเรียนการกุศลของวัดเป็นโรงเรียนที่เน้นให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม ซึ่งนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างถูกต้องทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในวัฒนธรรมอันดีงาม ไม่เบียดเบียนตนเองและบุคคลอื่น สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมในวงกว้าง เป็นต้นแบบของนักเรียนนักศึกษา เป็นพลเมืองที่ดีในสังคม

               กิจกรรมปฏิบัติธรรมเสริมสร้างให้เยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรม

               โรงเรียนการกุศลของวัดในจังหวัดลำปาง ได้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 2 โรงเรียน ดังนี้ 1. โรงเรียนผดุงวิทย์ (วัดศรีบุญเรือง) อำเภอเมือง และโรงเรียนสุนทรศึกษา (วัดปงหอศาล) อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่ง 2 โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ใจกลางของชุมชน และมีนักเรียนในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเสริมสร้างพลัง “บวร” ให้ยั่งยืนโดยโรงเรียนจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องให้นักเรียนตระหนักรู้ถึงภัยของการดื่มสุรา บุหรี่ และการพนัน อาทิเช่น เดินรณรงค์ในโอกาสต่างๆ ให้คนในชุมชนตระหนักถึงภัยของอบายมุข อบรมธรรมะสอดแทรกเนื้อหาหลักธรรมคำสอนที่เกี่ยวข้องกับอันตรายของอบายมุข ตลอดจนกีฬาต้านอบายมุข โดยมีชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม

596990.jpg

               กิจกรรมกีฬาต้านอบายมุข

596978.jpg

 กิจกรรมรณรงค์ ลดละเลิกอบายมุขในชุมชน

                ดังนั้น จะเห็นได้ว่านักเรียนที่ศึกษาในโรงเรียนการกุศลของวัด ด้วยหลักสูตรและการสอนเปี่ยมด้วยความรู้คู่คุณธรรมทำให้ชุมชน สังคม มั่นใจว่าเยาวชนจะเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อน ลด ละ เลิกอบายมุขได้ในวงกว้าง และสามารถเป็นเยาวชนต้นแบบที่มีคุณภาพ เริ่มจากตนเอง ครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ โดยมีวัดและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้การสนับสนุนในกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนด้วยพลัง “บวร” 9 ขั้นตอน ดังนี้

1. ประกาศเจตนารมณ์หรือข้อตกลงของวัด โรงเรียน และชุมชน โดยมีการประชุมเพื่อประกาศเจตนารมณ์หรือข้อตกลงของผู้นำชุมชนและคนในชุมชนที่จะขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนลดอบายมุขร่วมกัน

2. กำหนดเป้าหมายของวัด ชุมชน และโรงเรียนร่วมกัน กำหนดแนวทางการลดอบายมุขในชุมชน และร่วมกับกำหนดเป้าหมายความดีที่อยากทำโดยผ่านเยาวชน

3. จัดทำแผนชุมชน เสริมพลัง “บวร” เกี่ยวกับการลด ละ เลิก อบายมุข ในชุมชนและสังคม

4. ดำเนินการตามแผนชุมชน

5. ติดตามประเมินผล

6. ยกย่องบุคคลในโรงเรียน ชุมชนที่สามารถลด ละ เลิก อบายมุข และบุคคลที่ตั้งใจจะเลิกอบายมุข

7. ประเมินผลสำเร็จ โดยพิจารณาผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ ความสำเร็จตามแผนที่ตั้งไว้

8. ขยายผลกิจกรรมไปยังชุมชนรอบข้าง

9. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ วัด โรงเรียน และชุมชน มีองค์ความรู้จากการเป็น โรงเรียนต้นแบบสามารถเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ และขยายเครือข่ายเพื่อให้เกิดสังคมลดอบายมุข

596963.jpg

               กิจกรรมการแสดงของต้นกล้าเยาวชน

596968.jpg

               กิจกรรมให้ความรู้แก่ต้นกล้าเยาวชน

                      การดำเนินงานทั้ง 9 ขั้นตอนของการเสริมพลัง “บวร” ผ่านโรงเรียนการกุศลของวัด โดยใช้ต้นกล้าเยาวชน ร่วมกับ วัด ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เป็นกลไกในการเสริมสร้างสุขภาวะลดละเลิกอบายมุข ขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน และสังคม และโรงเรียนการกุศลของวัด ชุมชน สามารถเป็นแหล่งกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

bottom of page